ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการพิมพ์พื้นฐานและการพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง

1. ระบบการพิมพ์พื้นฐาน

สื่อสิ่งพิมพ์ที่ปรากฏอยู่โดยทั่วไปนั้น สามารถที่จะจำแนกตามกระบวนการ (Process) ของการพิมพ์ได้เป็น 5 ระบบใหญ่ๆ ดังนี้

1.1. ระบบการพิมพ์พื้นนูน (Relief Printing)

ตามหลักการพิมพ์ในระบบนี้ เกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างแม่พิมพ์ให้มีระดับแตกต่างกันระหว่างตัวภาพกับพื้นแม่พิมพ์ โดยให้ตัวภาพมีความสูงกว่าพื้น เมื่อหาหรือกลิ้งหมึกพิมพ์บนแม่พิมพ์ หมึกจะติดเฉพาะตัวภาพ ส่วนที่นูนขึ้นมาเท่านั้น ในการสร้างภาพบนแม่พิมพ์จำเป็นต้องให้ภาพหรือตัวอักษรมีลักษณะเป็นด้านกลับ (reverse) ซึ่งจะถ่ายทอดให้ภาพบนชิ้นงานพิมพ์มีลักษณะเป็นด้านตรง เทคนิคของการพิมพ์ระบบแม่พิมพ์นูนอีกลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการแบบโบราณ ได้แก่ การถู (stone rubbing) ด้วยสีหรือหมึกทางด้านหลังของกระดาษหรือผ้า (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2530, น.13) ระบบการพิมพ์พื้นนูนสามารถแบ่งออกได้ 3 เทคนิค ดังนี้

ก)  การพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส (Letterpress printing) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า การพิมพ์ระบบตัวเรียง เป็นเทคนิคหนึ่งในกลุ่มการพิมพ์พื้นนูน ให้บริเวณส่วนนูนของแม่พิมพ์ทำหน้าที่รับหมึกแล้วถ่ายโอนไปยังวัสดุที่ใช้พิมพ์โดยตรง (Direct printing) ด้วยแรงกดที่เหมาะสม ต่างจะระบบพิมพ์ออฟเซตที่แม่พิมพ์จะต้องถ่ายโอนหมึกผ่านผ้ายางก่อนไปยังวัสดุใช้พิมพ์ (Indirect printing) ในอดีตเราเรียกระบบพิมพ์นี้ว่าระบบตัวเรียง เพราะแม่พิมพ์ประกอบขึ้นจากการนำตัวเรียงพิมพ์เป็นตัวๆ มาเรียงกันเป็นแถวให้ได้เป็นหน้าพิมพ์ จากนั้นนำไปติดตั้งบนเครื่องพิมพ์ ตัวพิมพ์เหล่านี้มีส่วนผสมจากโลหะผสม ดีบุก พลวง และตะกั่ว สามารถนำแม่พิมพ์กลับมาใช้ได้อีก ต่อมามีการพัฒนาขึ้นโดยการนำเครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรง ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เช่น ไลโนไทป์ (Linotype) และโมโนไทป์ (Monotype) โดยที่เครื่องแบบไลโนไทป์จะหล่อตัวเรียงพิมพ์ติดกันเรียงแถวเป็นบรรทัด หากต้องการแก้ไข ไม่สามารถแก้ไขเป็นรายตัวอักษรได้ ในขณะที่เครื่องแบบโมโนไทป์เป็นการหล่อตัวเรียงพิมพ์ทีละตัวอักษร แล้วนำมาเรียงเป็นบรรทัดอัตโนมัติ สามารถแก้ไขข้อความในภายหลังได้ จนกระทั่งในปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเพอลิเมอร์ไวแสงได้ถูกนำมาใช้แทนโลหะผสมที่เป็นอันตรายต่อช่างหล่อและช่างพิมพ์ และได้ใช้กันแพร่หลายโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้การใช้ตัวเรียงพิมพ์และการกัดบล็อกพิมพ์ได้กลายเป็นอดีตไปแล้วในวงการพิมพ์ และที่สำคัญของนวัตกรรมแม่พิมพ์พอลิเมอร์นี้ เป็นสิ่งผลักดันให้เทคโนโลยีการพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสเปลี่ยนบทบาทตัวเองอีกครั้ง ด้วยการไปสนับสนุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และฉลาก แทนการพิมพ์หนังสือ เอกสารทั่วไป แผ่นปลิว และนามบัตร

นอกจากโรงพิมพ์แล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็เกิดขึ้นเช่นกัน ได้แก่ สำนักพิมพ์ แกลเลอรี และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 การพิมพ์ระบบออฟเซตได้เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดงานพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส จนถึงปัจจุบันด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบพิมพ์ออฟเซตที่เหนือกว่า

หลักการพิมพ์

การพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสใช้หลักการให้ส่วนนูนของบล็อกพิมพ์ (บริเวณภาพ) ซึ่งขึ้นรูปเป็นตัวอักษรกลับซ้ายขวา รับหมึกพิมพ์ เพื่อให้ถ่ายโอนไปยังวัสดุใช้พิมพ์ ทั้งนี้การถ่ายโอนหมึกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีแรงกดพิมพ์ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของเครื่องพิมพ์ ที่ออกแบบมาให้มีการกดทับกันระหว่างแท่นติดตั้งบล็อกพิมพ์กับส่วนกดพิมพ์ ซึ่งอาจจะเป็นแผ่นราบหรือโมกดพิมพ์ก็ได้ การออกแบบเครื่องพิมพ์ได้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

–  เครื่องพิมพ์แบบเพลทเทน (Platen press) เหมาะสำหรับพิมพ์งานขนาดเล็ก เช่น นามบัตร แผ่นปลิว สติ๊กเกอร์ หรือประยุกต์นำไปใช้พิมพ์งานปั๊มฟอยล์ ดุนนูน (emblossing) และอัดตัด (die-cut)

–  เครื่องพิมพ์แบบซีลินเดอร์ (Flatbed cylinder press) มีการออกแบบฐานรองให้สามารถรองรับบล็อกพิมพ์ขนานกับพื้น และให้โมกดพิมพ์ทรงกลมทำหน้าที่กดกระดาษสำหรับพิมพ์ ส่วนใหญ่ใช้ในงานพิมพ์หนังสือเป็นหลัก ควบคุมคุณภาพได้ดีกว่าแบบเพลทเทน เนื่องจากหน่วยจ่ายหมึกมีจำนวนลูกกลิ้งมากกว่า ทำให้ชั้นหมึกไม่หนาเกินไป และมีความสม่ำเสมอ

–  เครื่องพิมพ์แบบโรทารี (Rotary press) บล็อกพิมพ์หรือแม่พิมพ์จะต้องทำให้โค้งเข้ากับแม่พิมพ์ (Plate cylinder) โครงสร้างนี้ออกแบบมาให้พิมพ์งานต่อเนื่องด้วยกระดาษป้อนม้วน ความเร็วสูง ใช้พิมพ์งานหรือหนังสือพิมพ์ สมุด แบบฟอร์มต่างๆ ต่อมาไม่มีการใช้งานกับเครื่องประเภทนี้ เพราะมีการนำระบบพิมพ์ออฟเซตเข้ามาใช้แทน จนกระทั่งแม่พิมพ์ได้เปลี่ยนมาใช้พอลิเมอร์ไวแสงแทน ทำให้เครื่องพิมพ์นี้กลับมาเป็นที่นิยมในทุกวันนี้ ใช้พิมพ์ฉลากสำหรับบรรจุภัณฑ์ คุณภาพงานพิมพ์เป็นที่ยอมรับจากการใช้หมึกยูวีพิมพ์ และความละเอียดสูงของแม่พิมพ์พอลิเมอร์ที่สามารถทำได้

ลักษณะของภาพพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส จะสัมผัสได้จากรอยนูนบนกระดาษพิมพ์ที่เกิดจากแรงกดพิมพ์ที่บางครั้งช่างพิมพ์อาจควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะภาพลายเส้นหรือกราฟิกขนาดใหญ่ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของระบบพิมพ์นี้ที่ต้องการแรงกดพิมพ์ค่อนข้างสูงในการถ่ายโอนหมึกให้สมบูรณ์ แต่หากงานพิมพ์ภาพฮาร์ฟโทนหรือตัวอักษรขนาดเล็ก ปรากฏการณ์รอยนูนอาจเห็นไม่ชัด แต่ให้สังเกตภาพพิมพ์แทน ซึ่งจะมีการกระจายของชั้นหมึก (spreading) ไหลไปกองที่ขอบภาพ (สีเข้ม) มากกว่าตรงกลางภาพ (สีจาง) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อมองผ่านแว่นขยาย

ข)  การพิมพ์ดรายออฟเซต (Dry offset printing) หรือการพิมพ์เล็ตเตอร์เซต (Letterset printing) เป็นระบบพิมพ์ที่ใช้หลักการของออฟเซตกับเล็ตเตอร์เพรสเข้าด้วยกัน คือ ใช้แม่พิมพ์พื้นนูน ถ่ายโอนหมึกพิมพ์ผ่านผ้ายางไปยังวัสดุใช้พิมพ์ที่อาจขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือเป็นแผ่นพิมพ์ก็ได้ มีลักษณะเฉพาะคือ โครงสร้างหน่วยพิมพ์ไม่มีหน่วยทำชื้นการซ้อนกันของหมึกพิมพ์เป็นแบบเปียก wet-on-wet โดยปรกติใช้พิมพ์งานประเภทแบบฟอร์มธุรกิจ งานพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงที่ใช้หมึกเรืองแสงหรือหมึกสมบัติแม่เหล็ก ซึ่งไม่ต้องการน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วย หลอด กระป๋องเครื่องดื่ม เป็นต้น

หลักการพิมพ์

การพิมพ์ดรายออฟเซตได้พัฒนาต่อยอดมาจากระบบพิมพ์ออฟเซตในปี พ.ศ. 2436 ซึ่งขณะนั้นได้ออกแบบนำไปใช้เพื่องานประเภทเอกสารปลอดการปลอมแปลง เช่น สมุดเช็ค พันธบัตร และเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในธนาคาร สถาบันการเงิน ด้วยเหตุผลที่หมึกพิมพ์ไม่สามารถสัมผัสกับน้ำยาเฟาว์เทนได้ โครงสร้างเครื่องพิมพ์ออกแบบมาเป็น 2 ลักษณะ ตามประโยชน์การใช้งาน เช่น สำหรับพิมพ์เอกสาร โครงสร้างจะเป็นแบบเรียงแถว (In-line) ป้อนม้วน ขนาดเล็ก หลายสี และกรณีพิมพ์บรรจุภัณฑ์ประเภทหลอด กระป๋อง โครงสร้างจะเป็นแบบโมผ้ายางร่วม (Common blanket cylinder) ซึ่งมีหน่วยพิมพ์ล้อมรอบโมผ้ายางขนาดใหญ่ ซึ่งจะพิมพ์สีแต่ละสีที่เจ้าของงานได้ออกแบบมา โดยหมึกจากแม่พิมพ์เหล่านี้จะถ่ายโอนไปยังผ้ายางซ้อนทับกันจนครบทุกสี (หมึกยังไม่แห้งตัว) แล้วถ่ายโอนหมึกทั้งหมดต่อไปยังวัสดุที่ขึ้นรูปเป็นกระป๋อง หรือหลอด เป็นต้น จากนั้นงานที่ถูกพิมพ์แล้วจะถูกส่งไปยังหน่วยทำแห้ง ขึ้นอยู่กับหมึกพิมพ์ที่ใช้ว่าจะแห้งด้วยลมร้อน หรือรังสียูวี มีข้อสังเกตสำหรับโครงสร้างแบบนี้คือ ไม่มีโมกดพิมพ์ แต่จะใช้ตัวบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการพิมพ์ ทำหน้าที่เป็นโมกดพิมพ์แทน

การนำไปใช้งาน

ปัจจุบัน ระบบพิมพ์ดรายออฟเซตมีบทบาทสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ประเภท ถ้วย หลอด และกระป๋องเครื่องดื่ม ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ด้วยเครื่องพิมพ์ที่ผลิตในประเทศไทย และการใช้หมึกพิมพ์ยูวีที่ทำให้คุณภาพงานพิมพ์เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องดื่มที่ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและทั่วโลก

ค)  การพิมพ์เฟล็กโซกราฟี (Flexographic printing) เมื่อกล่าวถึงการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ระบบการพิมพ์เฟล็กโซกราฟีกำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั่วโลก ต่างจากประเทศไทยในแวดวงการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่รู้จักระบบการพิมพ์กราวัวร์มากกว่า เนื่องจากระบบการพิมพ์กราวัวร์นั้นได้นำไปใช้พิมพ์บรรจุภัณฑ์ประเภทอ่อนตัวตั้งแต่เริ่มมีการนำเข้ามาในประเทศไทยนับเป็นเวลามากกว่า 40 ปี ในขณะที่ระบบการพิมพ์เฟล็กโซกราฟีขณะนั้น ใช้ในการพิมพ์กล่องลูกฟูก ถุงกระสอบ ถุงกระดาษคราฟท์ เท่านั้น งานพิมพ์คุณภาพต่ำชนิด 1 ถึง 2 สี แทบจะอยู่นอกสายตาของโรงพิมพ์ที่อยากจะนำไปพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ต้องขึ้นชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตแต่ความคิดนี้ได้เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะบทบาทของเทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟีทั่วโลกได้เปลี่ยนโฉมเข้าสู่งานพิมพ์คุณภาพอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเหตุผลหนึ่งที่เป็นข้อดีของระบบพิมพ์นี้คือการพัฒนาหมึกพิมพ์ฐานน้ำเข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และเป็นระบบพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หลักการพิมพ์

ระบบพิมพ์เฟล็กโซกราฟี คือ ระบบพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์พื้นนูน (Rerief plate) ถ่ายโอนหมึกโดยตรงไปยังวัสดุที่ใช้พิมพ์ แม่พิมพ์ทำด้วยยางหรือพอลิเมอร์ไวแสงหยุ่นตัว ใช้หมึกพิมพ์เหลว การจ่ายหมึกควบคุมด้วยปริมาตรของร่องลึกของลูกกลิ้งแอนนิลอกซ์ แรงกดพิมพ์น้อย พิมพ์บนวัสดุใช้พิมพ์ได้หลายชนิด และที่น่าสนใจคือหมึกพิมพ์มีให้เลือกทั้งฐานตัวทำละลายฐานน้ำ และหมึกยูวี

ด้วยหลักการที่เครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟีใช้แรงกดพิมพ์น้อยกว่าระบบพิมพ์อื่น ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นแรงกดพิมพ์ที่ใช้ค่าน้อยมาก ทำให้ระบบพิมพ์เฟล็กโซกราฟีได้ฉายาอีกชื่อหนึ่งว่า Kiss-impression printing เนื่องจากความเหลวของหมึกและมีแรงกดพิมพ์ช่วยดันหมึกกระจายออก โดยการกองของหมึกจะน้อยกว่าระบบพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส ในขณะที่ภาพเม็ดสกรีน นอกจากจะเห็นหมึกกองที่ขอบแล้ว สีบริเวณภายในเม็ดสีสกรีนจางลง โดยเฉพาะบริเวณส่วนสว่างจะเห็นได้ชัด พบว่าการปรากฏการจางของสีภายในเม็ดสีสกรีนนี้ จะน้อยกว่าภาพเม็ดสีสกรีนทีได้จากระบบพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส

1.2. ระบบการพิมพ์พื้นลึก (Intaglio printing)

แม่พิมพ์ของระบบการพิมพ์พื้นลึกมักมีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบแม่พิมพ์นูน กล่าวคือ ส่วนที่เป็นตัวภาพหรือตัวหนังสือแทนที่จะสูงขึ้นกว่าพื้น กลับจะมีระดับลึกลงไปในการพิมพ์เมื่อทาหมึกพิมพ์ลงบนแม่พิมพ์ หมึกพิมพ์จะขังอยู่ในร่องลึก ซึ่งเป็นตัวภาพ ส่วนที่จะเป็นพื้นจะไม่มีหมึกพิมพ์ติดอยู่ เมื่อนำกระดาษมาวางทาบบนแม่พิมพ์กระดาษก็จะซับหมึกเฉพาะส่วนที่เป็นตัวภาพหรือตัวอักษรขึ้นมาเท่านั้น (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2530, น.14) สามารถจำแนกได้ 2 เทคนิค ดังนี้

ก)  การพิมพ์กราวัวร์ (Gravure printing) คือระบบพิมพ์ร่องลึก (บ่อหมึก) ที่ถ่ายโอนหมึกพิมพ์โดยตรงลงบนวัสดุใช้พิมพ์ หมึกพิมพ์มีลักษณะเหลว ความหนืดต่ำ โครงสร้างหน่วยพิมพ์ไม่ซับซ้อน แม่พิมพ์กลมเป็นทรงกระบอก ทำด้วยแกนเหล็กเคลือบด้วยนิกเกิล ทองแดง และโครเมียม ชั้นนอกสุด มีข้อดีคือพิมพ์ได้บนวัสดุหลายชนิดและหมึกพิมพ์ให้สีสันสด การเลือกใช้ตัวทำละลายในหมึกพิมพ์ทำได้ไม่จำกัดเนื่องจากแม่พิมพ์เป็นโลหะที่ทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี

ข)  การพิมพ์แพด (Pad printing) คือเทคนิคการพิมพ์ในรูปแบบหนึ่งที่แพร่หลายกันในประเทศ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่คนส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะระบบพิมพ์นี้ถูกนำไปใช้กับงานพิมพ์เฉพาะผลิตภัณฑ์มากกว่าจะเป็นหนังสือ บรรจุภัณฑ์ หรือคอมเมอร์เชียล ที่น่าสนใจคือระบบพิมพ์นี้มักอยู่คู่กับระบบพิมพ์สกรีนในโรงพิมพ์ โดยบางครั้งจะถูกนำไปใช้ในกรณีที่ระบบพิมพ์สกรีนไม่สามารถพิมพ์บนวัสดุนั้นได้

การนำไปใช้งาน

ระบบพิมพ์แพด มักพบในโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น อุปกรณ์เครื่องเขียน นาฬิกา ของเล่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ของชำร่วย และในปัจจุบันมีการนำระบบพิมพ์นี้ไปใช้ในการพิมพ์ RFID และแผงวงจรไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก ระบบพิมพ์แพดสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจสิ่งพิมพ์ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังมองหาเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาช่วยเติมเต็มและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

ในประเทศไทย ระบบพิมพ์แพดใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น หน้าปัดนาฬิกาส่งออกไปยังทวีปยุโรป ของเล่นเด็กส่งอเมริกาและญี่ปุ่น อะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รายได้ที่ประเทศไทยได้รับจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจากที่กล่าวไปนับว่าผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้เป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าการพิมพ์

1.3.  ระบบการพิมพ์พื้นราบ

แตกต่างจากการพิมพ์ทั้งสองระบบที่กล่าวมาข้างต้น โดยแม่พิมพ์จะมีระดับเสมอหรือเท่ากันหมดทั้งตัวภาพและพื้น แต่บริเวณตัวภาพจะมีลักษณะเป็นไข ซึ่งน้ำไม่สามารถเกาะติดอยู่ได้ เมื่อเอาน้ำทาบริเวณแม่พิมพ์น้ำก็ติดเฉพาะบริเวณที่เป็นพื้นเท่านั้น หลังจากที่ได้นำหมึกพิมพ์ทาหรือกลิ้งบนแม่พิมพ์ หมึกพิมพ์จะติดเฉพาะบริเวณตัวภาพ แต่จะไม่ติดที่พื้น (เนื่องจากหมึกพิมพ์จะมีลักษณะเป็นไข จึงไม่สามารถอยู่บนน้ำได้) และเมื่อนำกระดาษวางบนแม่พิมพ์จากบริเวณตัวภาพของแม่พิมพ์ก็จะถ่ายทอดขึ้นมาติดบนกระดาษ (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2530, น.15)

1.4. ระบบการพิมพ์พื้นฉลุ

การพิมพ์และการสร้างแม่พิมพ์ที่แตกต่างจากการพิมพ์ทั้ง 3 ระบบข้างต้น โดยการใช้แม่พิมพ์จากวัสดุที่มีลักษณะเป็นฉาก (Screen) บางๆ และหมึกพิมพ์สามารถผ่านทะลุได้ เช่น การใช้ผ้าไนลอนนำมาขึงกับกรอบ (Frame) จากนั้นจะใช้วัสดุทึบสำหรับปิดกั้นบนฉากนั้น โดยเปิดช่องว่างเฉพาะบริเวณที่ต้องการให้เกิดภาพหรือตัวหนังสือ เมื่อนำหมึกพิมพ์ปาดลงไปบนฉาก สีของหมึกพิมพ์จะทะลุฉากลงไปติดกับชิ้นงานพิมพ์ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปภาพหรือตัวอักษรอย่างงดงาม (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2530, น.15) การพิมพ์ด้วยวิธีนี้รู้จักกันทั่วไป คือ “การทำซิลค์ สกรีน” (Silk screen)

2.2.1.5  ระบบการพิมพ์ด้วยแสง

ระบบการพิมพ์ด้วยแสงนี้ แม้จะถือว่าเป็นการพิมพ์ในระบบที่แท้จริง แต่นับวันก็จะขยายบทบาทด้านการพิมพ์ต่อชีวิตประจำวันเพิ่มยิ่งขึ้น เรียกระบบการพิมพ์ด้วยแสงอีกอย่างว่า “ระบบการพิมพ์ไร้แรงกด” จึงทำให้การพิมพ์ระบบนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการพิมพ์ที่เป็นระบบสมาตรฐานเช่นระบบการพิมพ์อื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากการพิมพ์ไม่ได้เกิดจากการที่หมึกพิมพ์ถ่ายทอดจากแม่พิมพ์ไปสู่ชิ้นงานโดยตรง แต่เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างแสงกับน้ำยาเคมีบนชิ้นงาน ทำให้สามารถผลิตงานพิมพ์ได้น้อยชิ้น ทั้งนี้ ถ้าจะผลิตเป็นจำนวนมากก็จะเสียเวลาและมีราคาแพง คุณภาพของงานไม่สู้คงทน แต่ถ้าเป็นการผลิตจำนวนน้อยก็จะเป็นวิธีที่สะดวกมาก ตัวอย่างการพิมพ์ในระบบพิมพ์ด้วยแสงที่นิยมกันในปัจจุบัน ได้แก่ (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2530, น.16-17)

1)  การอัดขยายรูปถ่าย (Contact & Enlarge printing) เกิดจากการสร้างภาพบนฟิล์มเนกาทีฟ (Negative film) โดยแสงที่สะท้อนจากวัตถุผ่านเลนส์ของกล้องถ่ายรูปนำมาทำปฏิกิริยากับน้ำยาไวแสงที่ฉาบบนผิวฟิล์ม ทำให้ได้ภาพในลักษณะตรงกันข้ามกับธรรมชาติและความเป็นจริง

2)  เครื่องถ่ายเอกสาร หลักการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสารซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมากก็คือการถ่ายด้วยไฟฟ้าสถิต วิธีนี้จะวางต้นฉบับจริงบนกระจกจอภาพ เมื่อกดปุ่มทำการพิมพ์หลอดสร้างไฟฟ้าสถิตจะทำงานทำให้บริเวณที่เป็นภาพบนกระดาษพิมพ์เกิดไฟฟ้าขั้วตรงข้ามกับผงหมึกจึงดูดผงหมึกให้วิ่งเข้ามาติดบริเวณนั้นและปรากฏเป็นภาพขึ้น แต่ผงหมึกนั้นสามารถลบออก หรือหลุดได้ จึงต้องนำมาผ่านเครื่องทำความร้อน เพื่อให้ผงหมึกละลายติดแน่นถาวรบนกระดาษต่อไป (วัลลภ สวัสดิวัลลภ : 2527, หน้า 184)

3)  การถ่ายพิมพ์เขียว (Blue print) นิยมใช้ในการพิมพ์แบบงานก่อสร้าง (งานเขียนแบบ) โดยต้นฉบับจะเขียนบนกระดาษโปร่งแสง แล้วนำไปวางทับบนกระดาษอาบน้ำยาพิมพ์เขียว และเปิดให้แสงผ่าน แสงจะทำปฏิกิริยากับน้ำยา เมื่อนำกระดาษดังกล่าวไปทาน้ำยาเคมีจะเกิดภาพสีน้ำเงินขึ้น

2.2.2  ระบบการพิมพ์เชิงอุตสาหกรรม

การพิมพ์เชิงอุตสาหกรรม หมายถึง กระบวนการพิมพ์ที่เน้นเฉพาะระบบการพิมพ์ ซึ่งมีเป้าหมายต่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ในด้านประโยชน์ใช้สอย (function) มิใช่สนองต่อความต้องการด้านอารมณ์ หรือความงดงาม (beauty) ในเชิงศิลปะ ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าวจะเป็นการพิมพ์ในปริมาณมาก (mass production) จึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องจักรกล หรือเครื่องพิมพ์ เพื่อทุ่นเวลาในการผลิต มากกว่าที่จะใช้ฝึกฝีมือ หรือแรงงานมนุษย์ (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2530, หน้า 21)

ในระบบการพิมพ์พื้นฐานนั้น เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ต้นแบบนำไปสู่การพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมาก ดังนั้น ระบบการพิมพ์เชิงอุตสาหกรรมก็คือ การนำระบบพิมพ์พื้นฐานมาเป็นต้นแบบในการพิมพ์ผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ให้ได้จำนวนมาก ทั้ง 4 ระบบ ได้แก่ ระบบเลตเตอร์เพรส (letter press) มาจากระบบการพิมพ์พื้นนูน, ระบบกราวัวร์ (gravure) มาจากระบบการพิมพ์พื้นลึก, ระบบออฟเซ็ต (off set) มาจากระบบการพิมพ์พื้นราบ และระบบซิลค์ สกรีน (silk screen) มาจากระบบการพิมพ์พื้นฉลุ ส่วนระบบการพิมพ์ด้วยแสง หรือระบบการพิมพ์ไร้แรงกดก็แพร่หลายทั่วไปในการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างการพิมพ์ทางศิลปะกับการพิมพ์เชิงอุตสาหกรรมพอจะเปรียบเทียบให้เห็นได้ในตารางดังต่อไปนี้

ตารางที่ 2.1  การเปรียบเทียบระบบการพิมพ์พื้นฐาน การพิมพ์เชิงศิลปะ และอุตสาหกรรม

ระบบการพิมพ์พื้นฐาน
ระบบการพิมพ์เชิงศิลปะ
ระบบการพิมพ์เชิงอุตสาหกรรม
(ที่ใช้กันในปัจจุบัน)
แม่พิมพ์นูน (Relief printing)
ภาพแกะไม้ (Wood cut)
ระบบเลสเตอร์เพรส (letter press)
แม่พิมพ์ร่องลึก (Intaglio printing)
อเนกราวิ่ง (Engraving), เอชชิ่ง (Etching)
ระบบกราวัวร์ (Gravure)
แม่พิมพ์พื้นราบ (Planographic printing)
พิมพ์หิน (Lithography)
ระบบออฟเซต (Off set)
แม่พิมพ์พื้นฉลุ
พิมพ์ฉากไหม (Serigraphic printing)
ระบบซิลค์สกรีน (Silk screen)

จากตารางข้างต้น พบว่าระบบการพิมพ์พื้นฐานได้พัฒนาการมาเป็นการพิมพ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยมีลำดับการพัฒนาดังนี้

2.2.2.1  การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์นูน – เลตเตอร์เพรส

การพิมพ์ในระบบนี้ถือได้ว่า เป็นการพิมพ์ยุคเริ่มต้นของมนุษย์ในการแสดงออกทางศิลปะที่นอกเหนือจากงานจิตรกรรม (Painting) โดยศิลปินนิยมใช้เทคนิคการแกะแม่พิมพ์ไม้ (Wood cut)

ในเวลาต่อมาเมื่อมีการสร้างแม่พิมพ์ด้วยการสลักภาพลงโลหะ โดยให้กรดทำปฏิกิริยา กัดโลหะจนได้แม่พิมพ์นูนขึ้นมา นับว่าเป็นวิธีการที่สามารถเข้ามาแทนที่การแกะไม้ด้วยเครื่องมือ อย่างมีคุณค่า และมีผลต่อกิจการพิมพ์ในยุคต่อมาอย่างมาก

การพิมพ์ในเชิงอุตสาหกรรม เรียกการพิมพ์ระบบแม่พิมพ์นูนนี้ว่า “ระบบเลตเตอร์เพรส” (letter press)

ลักษณะเด่นของการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรส จะปรากฏลักษณะพิเศษจากผลของการพิมพ์ ซึ่งจะต่างจากการพิมพ์ในระบบอื่นๆ อยู่ 3 ลักษณะ ดังนี้ (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2537, น. 229)

ก)  ในการพิมพ์พื้นทึบ (Solid) หรือที่เรียกว่า “พื้นตาย” กล่าวคือ สิ่งพิมพ์ที่มีสีพื้นเรียบ เมื่อพิมพ์ด้วระบบเลตเตอร์เพรสบนกระดาษไม่เคลือบผิว มักแสดงให้เห็นงานพิมพ์ที่พิมพ์ไม่ทั่ว (non-buttoming) อยู่เสมอ เนื่องจากหมึกพิมพ์ไม่สามารถลงไปสัมผัสได้สุดรอยขรุขระ

ข)  หมึกจะหนาตามบริเวณริมขอบตัวอักษร และเม็ดสกรีน ทั้งมักจะมีรอยแตกจากตัวอักษร หรือเม็ดสกรีน เนื่องมาจากระบบการพิมพ์ที่ผิวแม่พิมพ์นูนจากพื้น เมื่อมากระทบกับกระดาษจะทำให้เกิดการอัดรีดหมึก (ink-squeeze) ไปตามขอบภาพ และจะพบมากใสกระดาษที่เคลือบผิวมัน

ค)  จะมีรอยนูนที่ด้านหลังของกระดาษงานพิมพ์ เนื่องจากแรงกดของแม่พิมพ์นูนต่อกระดาษ

สิ่งพิมพ์ที่เหมาะสมกับการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรส (วันชัย  ศิริชนะ, 2536) มีดังนี้

–  มีจำนวนพิมพ์ประมาณ 2,000 – 3,000 ชุด

–  ไม่ต้องการคุณภาพสูงมาก

–  มีภาพประกอบเล็กน้อย

–  ไม่ควรเป็นงานพิมพ์หลายสี

–  ต้องมีเวลาทำงานพิมพ์นานพอสมควร

–  มีงบประมาณในการพิมพ์จำกัด

2.2.2.2  การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์ร่องลึก – ระบบกราวัวร์

การพิมพ์เชิงอุตสาหกรรมได้นำแนวทางของศิลปะภาพพิมพ์มาใช้ในการพิมพ์ ซึ่งต้องการความประณีต เช่น การพิมพ์ธนบัตร แสตมป์ การพิมพ์จำลองผลงานทางศิลปะอย่างก้าวหน้า และแพร่หลาย ซึ่งเรียกว่า การพิมพ์ระบบกราวัวร์ (gravure)

ลักษณะเด่นของระบบกราวัวร์ ที่มีลักษณะของงานพิมพ์พิเศษแตกต่างจากการพิมพ์ระบบอื่น ได้แก่ (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2537, น.231)

ก)  ถ้าขยายตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น จะเห็นขอบของตัวอักษรที่มีรอยหยักคล้ายฟันเลื่อย

ข)  ในการพิมพ์หมึกทึบ (พื้นตาย) อาจเกิดรอยขอบสีขาวตามขอบของโพรงหมึกได้

ค)  ถ้าใบปาดหมึกแตก (doctor streak) เช่น เป็นรอยบิ่นหรือแหว่ง ใบปาดนี้จะไม่สามารถปาดหมึกบนผิวแม่พิมพ์ได้สะอาด เมื่อพิมพ์ออกมจะเห็นเป็นเส้นหมึกบนงานพิมพ์ได้

สิ่งพิมพ์ที่เหมาะสมกับการพิมพ์ระบบกราวัวร์ (วันชัย  ศิริชนะ, 2536) มีดังนี้

–  ควรมีจำนวนพิมพ์มากกว่า 50,000 ชุด

–  ต้องการพิมพ์ลงบนกระดาษ พลาสติก หรือฟอยล์

–  ต้องการความละเอียดของภาพมาก

2.2.2.3  การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์พื้นราบ – ระบบออฟเซต

กระบวนการพิมพ์ และการสร้างแม่พิมพ์ระบบพื้นราบนี้จะมีเทคนิคการสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากแม่พิมพ์ใน  2 ระบบแรกที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ จะไม่มีการแกะสลัก เพื่อให้ระดับของผิวภาพและพื้นแตกต่างกัน ศิลปินซึ่งสร้างงานศิลปะภาพพิมพ์ นิยมใช้เทคนิคการพิมพ์หิน (lithography) ในการทำงาน ผลจากการที่มีการคิดค้นเทคนิคการพิมพ์หินขึ้น ทำให้การพิมพ์เชิงอุตสาหกรรมหันมาทดลองใช้แม่พิมพ์หิน สำหรับการสร้างภาพประกอบ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการแกะบล็อก

ต่อมาแท่นพิมพ์หินนี้ได้พัฒนามา จนกระทั่งเป็นระบบการพิมพ์ซึ่งเรียกว่าระบบออฟเซต (Off set) ที่นิยมใช้ในกิจการการพิมพ์อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ลักษณะเด่นเป็นพิเศษของระบบการพิมพ์ออฟเซต คือ ทั้งตัวอักษรและภาพหมึกจะติดทั่วทั้งภาพสม่ำเสมอขอบภาพหรือตัวอักษรจะมีความคมชัด โดยไม่มีรอยอัดบี้ตามขอบภาพเหมือนระบบเลตเตอร์เพรส แม้ว่าจะเป็นการพิมพ์บนกระดาษหยาบก็ตาม เนื่องจากหมึกจะพิมพ์ติดบนลูกกลิ้งยางก่อนที่จะสัมผัสกระดาษ (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2537, น. 232)

ระบบออฟเซตสามารถพิมพ์ภาพสกรีนที่มีขนาดละเอียดกว่าระบบเลสเตอร์เพรสซึ่งใช้สกรีนละเอียดไม่เกิน 133 เส้นต่อนิ้ว แต่ระบบออฟเซตใช้สกรีนละเอียดได้ถึง 150 ถึง 175 เส้นต่อนิ้ว หรือมากกว่า สกรีนยิ่งละเอียดมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเก็บรายละเอียดของภาพได้มากขึ้นเท่านั้น และความหนาของชั้นหมึกที่ติดบนแม่พิมพ์และกระดาษจะบางกว่าระบบเลตเตอร์เพรส 3-4 เท่า (วันชัย  ศิริชนะ : 2539, หน้า 70-71)

ส่วนลักษณะพิเศษที่พบจากข้อบกพร่องของการพิมพ์ระบบออฟเซต ได้แก่

ก)  การเกิดสะกัม (scum) เนื่องจากการแบ่งเขตระหว่างภาพกับพื้นของระบบออฟเซตนั้น อาศัยการแบ่งด้วยน้ำ โดยบริเวณที่เป็นพื้นจะมีจับอยู่ และหมึกจะไม่จับที่พื้น แต่ถ้าการพิมพ์นั้นเกิดความไม่สมดุลในการให้น้ำ เช่น น้ำน้อยเกินไป หมึกพิมพ์อาจเข้าไปจับบริเวณพื้นก็ได้

ข)  การเกิดทินติ้ง (tinting) จะมีลักษณะเป็นสีจางๆ ปรากฏทั่วแผ่นแม่พิมพ์ โดยมีลักษณะเป็นไขมันหมึกจับเป็นคราบอยู่ทั่วไป ทั้งนี้เกิดได้จากหมึกพิมพ์ และน้ำยา เฟาเทน มีคุณภาพไม่เหมาะสมทำให้ไขมันหมึกไปรวมกับน้ำได้

ลักษณะพิเศษทั้งสองประการนี้ถ้าปรากฏขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ในระบบออฟเซตอย่างแน่นอน

สิ่งพิมพ์ที่เหมาะสมกับการพิมพ์ระบบออฟเซต (วันชัย  ศิริชนะ, 2536) มีดังนี้

–  ควรมีจำนวนพิมพ์เกิน 3,000 ชุด ขึ้นไป

–  มีภาพประกอบมาก

–  ต้องการความรวดเร็วในการพิมพ์

–  ต้องการความประณีต งดงาม

–  ต้องการพิมพ์หลายสี

–  ต้นฉบับมีงานศิลปะ (Art work) มาก

2.2.2.4  การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์ฉลุ – ระบบซิลค์ สกรีน

การพิมพ์ระบบแม่พิมพ์ฉลุเริ่มต้นจากการที่ศิลปินยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้ใช้เทคนิคสแตนซิล (stencil) ในการสร้างภาพ

วิธีการพิมพ์เทคนิคสเตนซิล จะใช้เส้นไหม (silk) เป็นตัวยึดลวดลายทึบสำหรับเป็นแม่พิมพ์ แล้วปาดสีให้ทะลุผ่านเส้นไหมลงไปติดวัสดุที่ต้องการพิมพ์ เช่น การพิมพ์ผ้า จากการใช้เส้นไหมเป็นตัวยึดลวดลายนี่เอง จึงทำให้เรียกการพิมพ์ระบบนี้ว่า “การพิมพ์ฉากไหม” (Silk screen) ต่อมาทั้งดานการพิมพ์เชิงศิลปะ และการพิมพ์เชิงอุตสาหกรรม ต่างก็หันมาสนใจการใช้เทคนิคการพิมพ์ซิลค์ สกรีน กันมากยิ่งขึ้น จนได้พัฒนาจนก้าวหน้ายิ่งขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงเรียกการพิมพ์ในระบบนี้ว่า การพิมพ์ซิลค์ สกรีน แม้ว่าในปัจจุบันจะมิได้ใช้เส้นไหมในการสร้างแม่พิมพ์ แต่ได้หันมาใช้วัสดุสังเคราะห์อย่างอื่น เช่น ไนลอน (Nylon) หรือ โพลีเอสเตอร์ (Polyester) แล้วก็ตาม (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2530, น. 40-58)

เนื่องจากระบบการพิมพ์ซิลค์ สกรีน เป็นการพิมพ์ที่หมึกพิมพ์ผ่านทะลุสกรีนลงบนชิ้นงาน ดังนั้น การพิมพ์ในลักษณะนี้จึงมีคุณลักษณะเด่นที่พิเศษแตกต่างจากการพิมพ์ในระดับอื่นๆ ได้แก่ (ศิริพงศ์  พยอมแย้ม 2537, น. 235-236)

ก)  เป็นการพิมพ์ที่มีปริมาณหมึกพิมพ์ติดบนชิ้นงานหนากว่าการพิมพ์ด้วยระบบอื่นๆ จนบางครั้งเมื่อใช้มือไปลูบไปบนผิวหมึกจะรู้สึกได้ว่านูนกว่าชิ้นงาน

ข)  ถ้าเป็นภาพที่มีลักษณะฮาล์ฟโทน (half tone) เม็ดสกรีนของภาพจะมีความหยาบกว่าระบบพิมพ์อื่นๆ

ค)  สามารถที่จะพิมพ์บนผิววัสดุชิ้นงานได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น กระดาษ ผ้า ไม้ โลหะ พลาสติก หนัง เป็นต้น

ง)  สามารถพิมพ์บนผิวชิ้นงานได้ ไม่ว่าจะมีระนาบเรียบหรือผิวโค้ง ตลอดจนทรงกลม เช่น ขวด แก้ว น้ำ เป็นต้น โดยใช้เทคนิคให้ชิ้นงานหมุนกลิ้งบนลูกปืนทรงกระบอก แล้วให้กรอบสกรีนเคลื่อนที่บนชิ้นงาน

สิ่งพิมพ์ที่เหมาะสมกับการพิมพ์ระบบซิลค์ สกรีน (วันชัย ศิริชนะ, 2536) มีดังนี้

–  เป็นภาพโฆษณา (poster) ขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนพิมพ์ไม่มากนัก

–  พิมพ์บนผิววัสดุพิเศษ เช่น แก้ว พลาสติก ผ้า หนัง โลหะ เป็นต้น

–  พิมพ์แผงวงจรไฟฟ้า

–  พิมพ์งานที่เน้นความงามทางศิลปะเป็นพิเศษจำนวนน้อยชิ้น

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561

ข่าวสารแนะนำ